เมทัลชีท คืออะไร?

          เมทัลชีท เป็นวัสดุแผ่นโลหะบาง ๆ ได้รับความนิยมในการใช้งานจากทั่วโลกมานานนับร้อยปี โดยเฉพาะในกลุ่มงานอุตสาหกรรม โรงงาน หรืออาคารสำเร็จรูปที่ต้องการความรวดเร็วในงานก่อสร้าง ต่างนิยมนำประโยชน์ของเมทัลชีทมาใช้ห่อหุ้ม ทั้งส่วนหลังคาและผนังอาคาร ส่วนการนำเมทัลชีทมาใช้ในประเทศไทย ระยะแรกเน้นเฉพาะงานอุตสาหกรรมเช่นกันครับ และต่อมาเมทัลชีทได้รับความนิยมสูงมาจนถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งอาจเรียกได้ว่า เป็นคู่แข่งสำคัญของวัสดุหลังคากระเบื้องก็ว่าได้

          *ก่อนจะไปรู้จักคุณสมบัติและข้อดีของเมทัลชีท จะต้องบอกไว้ก่อนเลยว่า ทุกวัสดุในการก่อสน้าง ล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสียต่างแตกกัน ขึ้นอยู่กับประเภทการใช้งาน การออกแบบ สำหรับอาคารหรือที่พักอาศัย แต่ไม่ได้หมายถึงว่า กระเบื้องมุงหลังคาจะไม่มีข้อดี เราเพียงหยิบยกข้อดีของเมทัลชีท สำหรับผู้ที่สนใจจะใช้งาน*

 

8 คุณสมบัติเด่น ที่หาได้เฉพาะหลังคาเมทัลชีท

1. หลังคาเมทัลชีท ยาวต่อเนื่องตลอดทั้งผืน

          วัสดุหลังคากระเบื้องที่เราคุ้นเคยกัน โดยปกติจะออกแบบในลักษณะแผ่นเล็กๆ วางซ้อนทับกันตลอดทั้งผืนหลังคา ตรงจุดนี้ทำให้เกิดข้อบกพร่องในงานก่อสร้างที่อาจเกิดรอยต่อรั่วซึมภายหลังได้ และทำให้เกิดข้อจำกัดในการทำงานบางอย่าง แต่สำหรับเมทัลชีทซึ่งเป็นแผ่นเหล็กรีดลอน สามารถผลิตให้มีความกว้างยาวได้ จึงสามารถลดปัญหาจุดรอยต่อ จุดรั่วซึมไปได้มากครับ

2. เมทัลชีทคายความร้อนได้ดีกว่า

          หากเปรียบเทียบคุณสมบัติป้องกันความร้อน แน่นอนว่าหลังคากระเบื้องซึ่งผลิตจากคอนกรีต สามารถกันความร้อนได้ดีกว่าวัสดุประเภทโลหะ ที่มีคุณสมบัตินำความร้อน แต่หากเปรียบเทียบในด้าน “คายความร้อน” วัสดุเมทัลชีทจะสามารถคายความร้อนได้ดีกว่ากระเบื้องครับ นั่นหมายถึงหลังจากพระอาทิตย์ตกดินลงไปแล้ว ความร้อนที่กำลังสะสมภายในบ้านจะถูกคายออกอย่างรวดเร็ว แต่หลังคากระเบื้องคอนกรีต มีคุณสมบัติอมความร้อน ภายในบ้านจึงเย็นช้ากว่าเมทัลชีทครับ

3. ชายคาเมทัลชีท ออกแบบให้ยื่นยาวได้

          การออกแบบหลังคารูปทรงไทย เช่น ปั้นหยา จั่ว โดยปกติจะออกแบบให้มีชายคายาวออกไปประมาณ 1 เมตร เหตุผลของการออกแบบ 1 เมตร นอกจากด้านดีไซน์แล้ว ยังเกี่ยวข้องกับด้านโครงสร้างหลังคา เพราะหากยาวเกินกว่านั้นโครงสร้างหลังคาจะไม่สามารถรับน้ำหนักได้ จำเป็นต้องออกแบบโครงสร้างเพิ่มเติมเพื่อมารองรับน้ำหนักหลังคาที่ยื่นยาวออกไป แต่หากเป็นวัสดุเมทัลชีทซึ่งมีน้ำหนักเบา ทำให้การออกแบบหลังคา ข้ามขีดจำกัดเหล่านี้ไปได้ครับ

4. หลังคาเมทัลชีท รองรับองศาต่ำ

          นอกจากชายคาแล้ว จุดที่เมทัลชีททำคะแนนได้ดีมากนั่นคือ สามารถออกแบบรูปทรงหลังคาต่ำได้ โดยปกติการใช้หลังคากระเบื้องจะออกแบบองศาความชันของหลังคาซีแพ็คประมาณ 25-40 องศา หรือหากเป็นหลังคาลอนคู่ สามารถออกแบบได้ต่ำลงมาอีกนิด โดยรองรับความชัน 15 องศา แต่นั่นก็ไม่สามารถเทียบกับหลังคาเมทัลชีทได้เลย เพราะสามารถรองรับความชันเพียง 4-5 องศาสำหรับรุ่นธรรมดา และต่ำสุด 2 องศาสำหรับรุ่นที่ออกแบบมาพิเศษ

          เหตุผลที่หลังคากระเบื้องไม่สามารถรองรับองศาต่ำได้ เนื่องด้วยกระบวนการติดตั้งที่จำเป็นต้องซ้อนทับกันเป็นชั้น ๆ หากองศาต่ำมากเกินไป กรณีที่ฝนสาดลมแรงจะส่งผลให้น้ำไหลย้อนกลับเป็นเหตุให้น้ำรั่วซึมเข้าบ้าน ส่วนหลังคาเมทัลชีทเป็นแผ่นเดียวกันทั้งผืน จึงไม่เกิดปัญหาเหล่านี้ครับ

          และด้วยข้อดีในการรองรับองศาต่ำ สถาปนิกหลายท่าน จึงประยุกต์การใช้งานเมทัลชีทร่วมกับบ้านสไตล์ Modern โดยสามารถซ่อนหลังคาเมทัลชีทไว้ภายใน ซึ่งหากดูจากตัวบ้านภายนอกจะเสมือนว่าเป็นบ้านหลังคาแบน (Slab) แต่แท้จริงแล้วเป็นหลังคาเมทัลชีท อีกทั้งยังช่วยประหยัดงบประมาณและลดปัญหารั่วซึมได้ดีกว่าครับ

5. โครงสร้างหลังคาเมทัลชีท เบากว่า ต้นทุนจึงต่ำกว่า

          ข้อนี้อาจเรียกได้ว่า หลังคาเมทัลชีทชนะหลังคากระเบื้องแบบอย่างทิ้งห่าง ด้วยน้ำหนักของกระเบื้องที่ผลิตจากคอนกรีต ทำให้โครงสร้างหลังคาและโครงสร้างอาคารต้องแบกรับน้ำหนักมาก แต่หากเป็นหลังคาเมทัลชีท การออกแบบวิศวกรรมโครงสร้าง จะช่วยลดภาระการแบกรับน้ำหนัก นั่นหมายถึงงบประมาณในงานก่อสร้างถูกกว่าหลังคากระเบื้องด้วยครับ

6. หลังคาเมทัลชีท จบงานไว ประหยัดเวลาก่อสร้าง

           ลองจินตนาการถึงงานปูกระเบื้องหลังคา แผ่นหลังคากระเบื้องมีขนาดเล็ก ช่างจะค่อย ๆ เรียงแผ่นกระเบื้องทีละแผ่นซ้อนทับกันกระทั่งจบงาน งานลักษณะนี้ต้องอาศัยความปราณีต ชำนาญ มิเช่นนั้นอาจก่อให้เกิดปัญหารั่วซึมภายหลังได้ แต่หากเป็นหลังคาเมทัลชีทซึ่งมีขนาดใหญ่ เป็นแผ่นเดียวกันตลอดทั้งผืน เพียงแค่วางและติดตั้ง ใช้เวลาก่อสร้างไม่นานเลยครับ

7. หลังคาเมทัลชีท โค้งได้ตามใจชอบ

           ด้วยกระบวนการผลิตเมทัลชีทซึ่งเป็นแผ่นเหล็กรีดลอน จึงสามารถรองรับกับการบิดงอได้ แตกต่างจากงานกระเบื้องคอนกรีต ที่ไม่สามารถดัดโค้งได้ คุณสมบัติข้อนี้ ทำให้เกิดวิวัฒนาการด้านดีไซน์ ก่อกำเนินงานสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ ๆ มากมาย

8. เมทัลชีทไม่ได้เป็นแค่หลังคา แต่กรุผนังได้ด้วย

           ทิ้งท้ายด้วยอีกหนึ่งข้อดีของวัสดุเมทัลชีท ที่ปัจจุบันเริ่มนำมาใช้กันมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับผู้อ่านท่านใดที่ต้องการปรับโฉมผนังบ้านให้เท่ เพียงแค่ติดตั้งเมทัลชีทเข้ากับผนังบ้านของเรา ความสวยงามก็เกิดขึ้นได้โดยทันทีแล้วครับ

 

 

ขอบคุณความรู้ดีๆจาก : www.banidea.com

fb_1 Monday 15 October 2018 / 8105 views