ด้วยคุณสมบัติที่แสงสว่างสามารถลอดผ่านได้ จึงทำให้หลังคาโปร่งแสงกลายเป็นวัสดุที่ถูกนำมาใช้ตกแต่งหลังคาบ้านในปัจจุบันค่อนข้างมาก แต่จะเลือกวัสดุโปร่งแสงอย่างไรให้เหมาะสมกับบ้านที่คุณรักที่สุด เรามีคำตอบมาแนะนำ”

 

วัสดุโปร่งแสงเป็นวัสดุชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมในการนำมาตกแต่งเป็นส่วนหลังคาบ้าน ทั้งในบริเวณหลังคาที่เป็นส่วนต่อเติม หลังคาโซนโรงจอดรถ บริเวณห้องครัว ระเบียงบ้าน ตลอดจนถึงนำมาใช้ตกแต่งเป็นกันสาดให้กับตัวบ้าน เนื่องจากโดดเด่นด้วยคุณสมบัติที่ยอมให้แสงธรรมชาติสามารถส่องผ่านได้บางส่วน จึงได้รับความนิยมนำมาใช้ในการตกแต่งร่วมกับสถาปัตยกรรมอยู่อาศัยในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งวัสดุโปร่งแสงที่ได้รับความนิยมนำมาใช้งานมีอยู่ 5 ชนิดด้วยกัน ได้แก่

 

อะคริลิก

แผ่นโปร่งแสงอะคริลิก เป็นวัสดุที่โดดเด่นด้วยพื้นผิวเรียบ มีความใสเงาเหมือนกระจก แต่มีน้ำหนักที่เบากว่า รวมทั้งยังมีความเหนียว ไม่กรอบหรือแตกลายงาและไม่เป็นฝ้า ซึ่งสามารถจัดแต่งดัดเป็นรูปทรงโค้งได้ตามความต้องการ มีให้เลือกทั้งแบบธรรมดาที่สามารถกรองแสงอาทิตย์ได้ในระดับหนึ่ง และชนิดที่สามารถกรองแสงพร้อมป้องกันความร้อนได้ดี โดยวัสดุโปร่งแสงประเภทนี้สามารถนำมาใช้ตกแต่งบ้านได้หลากหลายสไตล์ ซึ่งสไตล์ที่นิยมนำมาใช้มากที่สุดคือการแต่งบ้านในสไตล์โมเดิร์น แต่ในขั้นตอนการติดตั้งแผ่นโปร่งแสงอะคริลิกบริเวณหลังคา แนะนำว่าควรมีการติดตั้งที่ได้มาตรฐานหรือผ่านการควบคุมจากผู้เชี่ยวชาญเป็นอย่างดี ที่สำคัญควรระวังไม่ให้เกิดร่องรอยการขีดข่วนบนแผ่นโปร่งแสงจากของมีคมในระหว่างการติดตั้ง สำหรับการดูแลรักษาสามารถทำได้ง่าย เพียงแค่ใช้น้ำเปล่าหรือน้ำสบู่อ่อนมาเช็ดล้างเท่านั้น

 

ไฟเบอร์กลาส

แผ่นโปร่งแสงไฟเบอร์กลาส เป็นวัสดุที่นิยมนำมาใช้ออกแบบต่อเติมเป็นหลังคาบ้าน โดยมีให้เลือกทั้งแบบแผ่นเรียบเนียนและแบบแผ่นลอนลูกฟูก ซึ่งมีสีสันสวยงามให้เลือกสรรตามความชอบอย่างหลากหลายทั้งแบบสีใสและสีขุ่น โดดเด่นด้วยคุณสมบัติที่มีน้ำหนักเบา มีความยืดหยุ่นได้ดี จึงช่วยทำให้สามารถนำมาดัดเป็นรูปทรงโค้งได้ง่าย โดยมาพร้อมคุณสมบัติที่เปิดรับให้แสงส่องผ่านได้ในปริมาณที่แตกต่างกันไปตามแต่ละเฉดสี ซึ่งจะมาพร้อมการเคลือบสารป้องกัน UV บริเวณพื้นผิวด้านบนของแผ่น จึงช่วยทำให้สามารถป้องกันความร้อนจากแสงอาทิตย์ได้มากขึ้น อีกทั้งยังมีความยาวให้เลือกหลายขนาดตามความเหมาะสมในการใช้งาน แต่มีจุดสังเกตในช่วงที่ฝนตกอาจมีเสียงรบกวนอยู่บ้าง และเมื่อเวลาผ่านไปก็อาจมีสีซีดจางลงตามระยะเวลาการใช้งาน

 

โพลีคาร์บอเนต

สำหรับวัสดุชนิดนี้มีให้เลือกอยู่ 3 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ แผ่นโปร่งแสงโพลีคาร์บอเนตแบบลอนลูกฟูก ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นเรียบมีช่องว่าง, แบบตันเรียบ และแบบลอน โดยมาพร้อมเฉดสีสวยงามหลากหลายให้เลือกสรร ทั้งแบบสีใสและสีขุ่น รวมถึงแผ่นแบบผิวส้ม ซึ่งวัสดุชนิดนี้จะมีน้ำหนักเบา สามารถยืดหยุ่นได้ดี จึงนำมาดัดเป็นรูปทรงโค้งในส่วนหลังคาได้ แต่แนะนำว่าหากต้องการนำวัสดุชนิดนี้มาใช้ในงานหลังคาบริเวณส่วนใดส่วนหนึ่งของบ้าน ควรเลือกชนิดที่มีการเคลือบผิวกันแสง UV จากดวงอาทิตย์ด้วยก็จะช่วยตอบโจทย์เรื่องการอยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น แต่มีจุดสังเกตอยู่ที่รอยต่อการซ้อนระหว่างแผ่นของโพลีคาร์บอเนตแบบลอนลูกฟูกและแบบลอน ซึ่งมีช่องว่างในช่วงการซ้อนทับกันแต่ละแผ่น จึงอาจทำให้เกิดการสะสมความชื้นจากน้ำกลายเป็นตะไคร่หรือจุดสะสมสิ่งสกปรกได้ง่าย และเมื่อใช้งานไปนานวันก็อาจทำให้แผ่นโพลีคาร์บอเนตเกิดความขุ่นมัวและมีสีซีดจางลง อีกทั้งยังทำให้เกิดเสียงรบกวนในระหว่างการอยู่อาศัยในขณะที่มีฝนตก เนื่องจากลักษณะแผ่นที่มีความบางและแข็ง

 

ยูพีวีซี

uPVC (Unplasticized Polyvinyl Chloride) เป็นหนึ่งในวัสดุที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมากในการนำมาติดตั้งเป็นหลังคาบ้าน ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปลอนสวยงามที่มีความใกล้เคียงกับลอนเมทัลชีท โดดเด่นด้วยคุณสมบัติที่ยอมให้แสงลอดผ่านได้ มีน้ำหนักเบา แต่มีความเหนียวและแข็งแรง พร้อมสามารถนำมาดัดโค้งได้ตามการใช้งาน โดยแผ่นแบบโปร่งแสงจะมีให้เลือกเพียงสีขาวขุ่นเท่านั้น ซึ่งเมื่อใช้งานไปนานวันอาจมีการเปลี่ยนแปลงของสีวัสดุไปตามสภาพอากาศ แต่ในขณะที่มีฝนตกจะไม่เกิดเสียงดังรบกวนมากเกินไป โดยมีจุดสังเกตคือวัสดุประเภทนี้อาจเกิดการแอ่นตัวในลักษณะตกท้องช้างเนื่องจากอุณหภูมิความร้อนได้ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความหนาและคุณภาพของแต่ละแบรนด์ผู้ผลิต

 

กระจกลามิเนต

กระจกลามิเนตเป็นวัสดุที่มีหลายสีให้เลือกใช้งาน ทั้งสีฟิล์มและสีกระจก เหมาะสำหรับการนำมาทำหลังคากันสาดแบบกระจกใส เนื่องจากเป็นวัสดุที่ประกอบด้วยกระจก 2 แผ่นประกบซ้อนกัน โดยมีฟิล์มกันรังสี UV แทรกอยู่ตรงกลางระหว่างแผ่น จึงช่วยทำให้กระจกเกาะกับชั้นฟิล์มและไม่ร่วงหล่นลงมาเป็นอันตรายต่อการอยู่อาศัยในกรณีที่เกิดการกระแทกบริเวณหลังคาจนกระจกแตก โดยลักษณะความหนาของกระจกที่ใช้จะอยู่ที่ประมาณ 4-5 มิลลิเมตร แต่หากเลือกใช้กระจกที่มีความหนามากขึ้นก็ต้องมีการออกแบบโครงสร้างหลังคาอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยในการรองรับน้ำหนักของกระจกที่มากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน แต่มีข้อดีอยู่ที่วัสดุประเภทนี้เมื่อนำมาใช้ออกแบบเป็นหลังคากันสาดจะไม่ค่อยเกิดเสียงดังรบกวนในขณะฝนตกมากนัก อีกทั้งยังสามารถมองเห็นบรรยากาศภายนอกได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ควรหมั่นทำความสะอาดอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เกิดคราบสกปรกเกาะบนผิวกระจกจนขุ่นมัว

fb_1 Thursday 02 December 2021 / 10131 views